หมูกำแพง 2023-01-06

ศีล 5 คำอาราธนาศีล 5

ศีล 5 คืออะไร ประกอบไปด้วยอะไรบ้าง วิธีการสมาทานศีล 5 และอาราธนาศีล 5 ให้ชีวิตดี ผลบุญจากการถือศีล 5 พร้อมเทียบศีล 5 กับหลักกฎหมายไทย

ศีล 5

เป็นหลักธรรมพื้นฐานที่ทุกคนเรียนรู้มาตั้งแต่ยังเด็ก ๆ ในคาบพระพุทธศาสนา และชาวพุทธหลายคนใช้เป็นแนวในการดำเนินชีวิตที่ยึดถือกันมาเป็นเวลานาน แต่เพื่อน ๆ รู้ไหมคะ ว่าในหลาย ๆ มิติของชีวิตเรา มีศีล 5 มาเกี่ยวข้องในด้านของกฎหมายด้วย เรียกได้ว่าศีล 5 นั้น เกี่ยวข้องกับชีวิตเราทั้งทางโลกและทางธรรมเลย ไปดูกันดีกว่าว่าการรักษาศีล 5 มีประโยชน์กับชีวิตเรายังไง   

 

ความหมายที่มา ศีล 5 

ชาวไทยส่วนใหญ่ไม่ว่าจะศาสนิกชนในศาสนาใด หรือแม้กระทั่งผู้ที่ไม่นับถือศาสนา เชื่อว่าย่อมต้องเคยได้ยินคำว่า ศีล 5 ซึ่งเป็นหลักปฏิบัติขั้นพื้นฐานของชาวพุทธ คำว่า “ศีล” นั้น มีที่มาหลากหลายความหมาย บ้างก็ว่าศีล มาจาก ศีรษะ ที่แปลว่ายอด หรือศีล มาจาก สีละ แปลว่า ปกติ หรือมาจาก สีตะละ ที่แปลว่าเย็น หรือมาจาก สิวะ ที่แปลว่าปลอดโปร่ง แต่โดยรวมแล้ว ศีล ก็คือข้อปฏิบัติตนขั้นพื้นฐานที่ทำให้คนเราเกิดความสงบสุขทั้งกายใจ และอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขนั่นเอง

 

ศีล 5 มีอะไรบ้าง

เบญจศีล หรือ ปัญจสีล แปลว่า ศีล 5 เป็นศีลหรือข้อห้ามในลำดับเบื้องต้นตามคำสอนของพุทธเจ้า ศาสดาแห่งศาสนาพุทธ โดยทั่วไปศีล 5 เป็นข้อห้ามในด้านต่างๆ 5 ประการ ได้แก่

  1. ห้ามฆ่าสัตว์
  2. ห้ามลักทรัพย์
  3. ห้ามประพฤติผิดในกาม
  4. ห้ามโกหก
  5. ห้ามดื่มเครื่องดองของมึนเมา

เวลาเข้าวัดหรือสวดมนต์ จะมีบทสวดอาราธนาศีล 5 ก่อน เพื่อเป็นการกล่าวว่าจะรักษาศีล 5 ข้อต่อหน้าพระสงฆ์ และพระสงฆ์จะนำกล่าวคำสมาทานศีล 5 ให้เรากล่าวตาม เพื่อเป็นการขานรับ ซึ่งเป็นการบอกว่าเราจะประพฤติและปฏิบัติตามศีล 5 ดังนี้

คำอาราธนาศีล 5

มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ

ติสะระเณนะสหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ทุติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุงวิสุง รักขะนัตถายะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

ตะติยัมปิ มะยัง ภันเต วิสุง วิสุง รักขะนัตถายะ

ติสะระเณนะ สะหะ ปัญจะ สีลานิ ยาจามะ

คำแปล : ข้าแต่พระสงฆ์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าทั้งหลาย ขอศีล 5 ข้อ พร้อมทั้งพระรัตนตรัย เพื่อประโยชน์แก่การรักษา

 

สมาทานศีล 5

ปาณาติปาตา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท โดยเว้นจากการฆ่าสัตว์
อะทินนาทานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท โดยเว้นจากการลักของผู้อื่น
กาเมสุมิจฉาจารา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท โดยเว้นจากการประพฤติผิดในกาม
มุสาวาทา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบทโดยเว้นจากการพูดเท็จ
สุราเมระยะมัชชะปะมาทัฏฐานา เวระมะณี สิกขาปะทัง สะมาทิยามิ
ข้าพเจ้าสมาทานซึ่งสิกขาบท โดยเว้นจากการดื่มสุรา ของมึนเมา
อานิสงค์จากการถือศีล 5

ประโยชน์ของศีล 5

นอกจากจะทำให้สังคมสงบสุขแล้ว ก็ยังส่งผลบุญให้แก่ตัวเราเองอีกด้วย โดยอานิสงค์จากการประพฤติตัวเป็นคนดีตามศีล 5 มีด้วยกัน ดังนี้

ศีลข้อที่ 1 เว้นจากการฆ่าสัตว์ จะทำให้เป็นผู้มีอวัยวะครบสมบูรณ์งดงาม มีร่างกายสมส่วน ผิวพรรณงดงาม มีความแคล่วคล่องว่องไว เป็นที่รักของคนที่พบเห็น สุขภาพร่างกายแข็งแรงไม่มีโรคภัย ไม่พลัดพรากจากคน ของรัก และทำให้มีอายุยืนยาว
ศีลข้อที่ 2 เว้นจากการลักทรัพย์ จะทำให้เป็นคนที่มีทรัพย์สิน มั่งคั่ง ไม่อดอยาก ไม่มีความยากจน มีความเป็นอยู่ที่สุขสบายไม่เดือดร้อน
ศีลข้อที่ 3 เว้นจากการประพฤติผิดในกาม จะส่งผลให้ไม่มีศัตรูคู่อาฆาต มีเสน่ห์เป็นที่รักของคนทั่วไปและจากคนทุกเพศทุกวัย ไม่พลัดพรากจากคนและของรัก
ศีลข้อที่ 4 เว้นจากการพูดโกหก จะส่งผลให้เป็นคนพูดจาไพเราะ มีฟันขาวสะอาดเรียงสวยงาม มีกลิ่นปากหอม มีคำพูดที่น่าเชื่อถือ จิตใจไม่ฟุ้งซ่าน มีความมั่นคงไม่หวั่นไหว มีคนยกย่องให้ความเคารพยำเกรง
ศีลข้อที่ 5 เว้นจากการดื่มสุราเมรัย จะส่งผลให้มีความเฉลียวฉลาดในการทำงาน ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ทำให้มีสติมั่นคงอยู่เสมอ เป็นคนมีความรู้ ไม่เป็นคนเกียจคร้าน เป็นคนไม่ประมาท เป็นผู้ฉลาดรู้ในสิ่งที่เป็นประโยชน์

นอกจากนี้การรักษาศีล 5 ยังเชื่อว่าจะทำให้ชาติภพถัดไป ไม่ต้องพบกับเรื่องทุกข์ทรมาณ และเป็นพื้นฐานในการพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ จนไปสู่การบรรลุนิพพานได้

 

 

ศีล 5 กับหลักกฎหมายไทย

แม้กระทั่งกฏหมายในสังคมส่วนใหญ่แล้วล้วนมีรากฐานมาจากคำสอนในศาสนาทั้งสิ้น กฏหมายไทยไม่ว่าจะบัญญัติอยู่ในรูปแบบของ พ.ร.บ. , ประมวลกฏหมาย หรือในชื่ออย่างอื่น มีอยู่จำนวนมากมายไม่ต่ำกว่าหลักพันฉบับ เนื้อหาสาระของกฏหมายในหลายบทบัญญัติ ต่างมีเนื้อหาที่สอดคล้องกับข้อห้ามในศีล 5 สอดแทรกอยู่ เราลองมาดูกันว่า ข้อห้ามต่าง ๆ เหล่านั้นอยู่ตรงไหนในประมวลกฏหมายอาญาและมีเนื้อหาสาระอย่างไรบ้าง

 

ปาณาติปาตา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ
(การเว้นจากฆ่าสัตว์ และการเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น)

ในประมวลกฏหมายอาญามีบัญญัติในเรื่องของความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำต่อชีวิตผู้อื่นในลักษณะที่เป็นความผิดทางกฏหมายโดยมีความสำคัญอยู่ตั้งแต่มาตรา 288 ถึงมาตรา 294 ซึ่งโทษสูงสุดในการฝ่าฝืนข้อห้ามของกฏหมายคือประหารชีวิต ที่ถูกบัญญัติอยู่ในมาตรา 289


อทินฺนาทานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ
(ห้ามลักทรัพย์ ลักขโมย และเอาสิ่งของผู้อื่นมาครอบครองอย่างไม่ถูกต้อง)

ในประมวลกฏหมายอาญาได้บัญญัติไว้อย่างละเอียดโดยแยกเป็นฐานความผิดต่างๆ เช่น ลักทรัพย์ วิ่งราว กรรโชก ปล้น ฉ้อโกง ยักยอก รับของโจร ฯลฯ ซึ่งอยู่หลักๆแล้วอยู่ในมาตรา 334 ถึงมาตรา 357 ซึ่งความผิดในส่วนนี้มีโทษจำคุกสูงสุดที่ยี่สิบปี


กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ

เป็นข้อห้ามที่ว่าด้วย การประพฤติไม่เหมาะสมในทางเพศ ไม่ประพฤติผิดในกามผิดลูกเมียผู้อื่น ถ้าดูในเนื้อหาของศีลข้อนี้จะอยู่ที่การมีความประพฤติที่ไม่เหมาะสมทางเรื่องเพศ แต่ในประมวลกฏหมายอาญาได้มีบัญญัติข้อห้ามกว้างกว่าแค่เรื่องเพศ เช่น เรื่องการพรากผู้เยาว์ ที่ไม่ได้หมายถึงแค่การนำผู้เยาว์ที่ไม่เกิน 15 ปี หรือ 17 ปี ไปเพื่อการกระทำชำเราทางเพศเท่านั้น แต่แค่พรากไปจากผู้ปกรองก็ถือว่ามีความผิดแล้ว รายละเอียดในส่วนนี้จะปรากฏอยู่ในมาตรา 317-320 ส่วนความผิดที่เกี่ยวกับการกระทำทางเพศโดยตรงเช่น ค้าประเวณี อนาจาร ข่มขืน ซึ่งมีการบัญญัติในกรณีที่แตกต่างกันอยู่ในหลายมาตรา ได้แก่มาตรา 276 – 287/2 โทษสูงสุดอยู่ที่จำคุกยี่สิบปีหรือในบางกรณีอาจมีโทษถึงประหารชีวิต


มุสาวาทา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ
(ห้ามโกหก และพูดเท็จ)

ในประมวลกฏหมายอาญาความผิดในข้อนี้จะอยู่ในส่วนของความผิดต่อเจ้าพนักงานในการยุติธรรม เช่น การแจ้งความเท็จ , การให้การเท็จ , เบิกความเท็จ ,นำสืบเท็จ ที่ปรากฏอยู่ในมาตรา 172-180 หากผู้ใดกระทำความผิดอาจมีโทษจำคุกสูงสุดอยู่ที่เจ็ดปี


สุราเมรยมชฺชปมาทฏฺฐานา เวรมณี สิกฺขาปทํสมาทิยามิ
(ละเว้นจากการดื่มสุรายาเมา อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท)

แม้ศีลข้อนี้ จะไม่ได้นำไปบัญญัติไว้ในประมวลกฏหมายอาญาโดยละเอียดหรือมีจำนวนมาตราที่มากเท่าศีล 5 ข้ออื่น ๆ แต่ยังปรากฏอยู่ในมาตรา 66 ซึ่งมีใจความโดยสรุปว่า ความมึนเมาเพราะเสพสุราหรือสิ่งเมาอย่างอื่นจะยกขึ้นเป็นข้อแก้ตัวในการกระทำความผิดไม่ได้ ศาลจะลงโทษน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้ไม่ได้

 

 เมื่อนำศีล 5 ที่เราเคยรู้จักกันดีอยู่แล้วในฐานะของข้อบัญญัติหรือคำสอนในศาสนาพุทธมาเปรียบเทียบกับข้อกฏหมายที่ยกตัวอย่าง จะเห็นได้ว่าศีล 5 หรือเบญจศีล ที่เรารู้จักกันดีนั้น มีความครอบคลุมการใช้ชีวิตในหลายมิติ ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นผู้ที่นับถือพุทธศาสนา หรือต่างศาสนา หรือแม้กระทั่งไม่นับถือศาสนาใด ๆ การปฏิบัติตามศีล 5 ล้วนมีประโยชน์ทั้งสิ้น และหากผู้คนในสังคมยึดหลักนี้ก็จะช่วยให้สังคมเกิดความสงบสุขร่มเย็นได้



Share   |   Edit   |   Add   |   List

เกี่ยวข้องกัน

ท่องเที่ยว รีวิวที่พัก