หมูกำแพง 2023-01-03

ข้าวเหนียว มาจากไหน แหล่งเพาะปลูก สายพันธุ์ข้าวเหนียวมีอะไรบ้าง

หมูกำแพง พาเพื่อนๆมารู้จักกับ ข้าวเหนียว ที่อยู่ในประเทศไทย แหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียว อนู่ที่ไหนบ้าง จะมีข้าวเหนียวสายพันธุ์ไหนบ้าง หรือเพื่อนๆเคยทาน ข้าวเหนียว สายพันธุ์ ไหนไปแล้วบ้าง มาดูกันนะว่ามีข้าวเหนียวตรงตามที่เพื่อนๆเข้าใจกันบ้างรึป่าว

ข้าวเหนียว ชาวนา นาข้าว

ข้าวเหนียว (ชื่อวิทยาศาสตร์Oryza sativa var. glutinosa) เป็นข้าวที่มีลักษณะเด่นคือการติดกันเหมือนกาวของเมล็ดข้าวที่สุกแล้ว ปลูกมากทางภาคอีสานของประเทศไทยและ ประเทศลาว

ข้าวเหนียวเป็นที่นิยมบริโภคอย่างกว้างขวางในประเทศ และเป็นอาหารหลักของประชากรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ นอกจากการบริโภคโดยตรงแล้วยังมีการนำข้าวเหนียวมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตสุราพื้นเมือง การผลิตแป้งข้าวเหนียวเพื่ออุตสาหกรรมอาหารและขนมขบเคี้ยว

ข้าวเหนียวมี 2 สี คือ สีขาวและสีดำ (คนเหนือเรียกว่า"ข้าวก่ำ") แต่ข้าวเหนียวดำจะมีสารอาหาร ที่เป็นประโยชน์มากกว่าข้าวเหนียวขาว สารอาหารที่ว่า คือ “โอพีซี"(OPC)มีสรรพคุณช่วยชะลอการแก่ก่อนวัย และความเสื่อม ถอยของร่างกาย โดยสารโอพีซีที่พบในข้าวเหนียวดำ เป็นสารชนิดเดียวกับสารสกัดที่ได้ จากองุ่นดำองุ่นแดง เปลือกสน

 

 

แหล่งเพาะปลูกข้าวเหนียวคุณภาพดีของประเทศไทย จะอยู่ที่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ 

 

 

 

10 สายพันธุ์ ข้าวเหนียว ที่ปลูกในทุกภูมิภาคของประเทศไทย

1. ข้าวก่ำลืมผัว

พันธุ์ข้าวเหนียวนาปีของกลุ่มชาติพันธุ์ชาวม้ง จังหวัดตาก รวงมีสีดำ เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางแถบดำ คุณภาพการสีดีได้ข้าวเต็มเมล็ด มีสีม่วงดำทั้งเยื่อหุ้มเมล็ดและเนื้อเมล็ด ผิวมัน เมื่อหุงสุกแล้วจะมีกลิ่นหอม รสชาติอร่อย เมื่อเคี้ยวจะรู้สึกกรุบ มีความมัน ภายในนุ่มเหนียว ข้าวกล้องจะมีความแข็ง มีเส้นใยอาหารสูงส่งผลดีต่อระบบการขับถ่าย สำหรับผู้สูงอายุอาจจะแข็งเคี้ยวยากเกินไป มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีกรดไขมันไม่อิ่มตัว เช่น โอเมกา 3 โอเมกา 6 และโอเมกา 9 มีวิตามินอี ธาตุเหล็ก แคลเซียม แมกกานีส มีฤทธิ์ต่อต้านอนุมูลอิสระ

 

2. ข้าวเหนียวเหมยนอง

ในอดีตพบปลูกมากทางภาคเหนือ ชาวบ้านนิยมปลูกไว้กินเป็นสายพันธุ์หลัก ข้าวเปลือกสีฟางกระน้ำตาล ก้นจุด ให้ผลผลิตสูง เมล็ดอ้วนป้อม มีขนาดใหญ่ คุณภาพข้าวสุก เหนียวนุ่ม  แต่ถ้าอุ่นซ้ำจะมีความเหนียวค่อนข้างมาก ปัจจุบันจะปลูกไว้เลี้ยงไก่ชน

 

3.ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์

ปลูกในพื้นที่อำเภอเขาวง และในบางตำบลของอำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ แหล่งปลูกบริเวณดังกล่าวจะมีแคลเซียมและซิลิกอนสูงจึงทำให้ได้ผลผลิตดี ข้าวเปลือกเป็นสีน้ำตาล เมล็ดข้าวสารมีสีขาวนวล เมื่อนึ่งสุกจะมีความหอมและนุ่ม ไม่แฉะติดมือ ถึงแม้จะทิ้งไว้ให้เย็นก็ยังคงมีความอ่อนนุ่มอยู่

 

4. ข้าวเหนียวพันธุ์เขี้ยวงู

เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองดั้งเดิม พบปลูกมาในจังหวัดเชียงรายและพื้นที่ใกล้เคียงในภาคเหนือ เปลือกเมล็ดมีสีฟาง ก้นจุด ข้าวกล้องสีน้ำตาล ข้าวสารมีสีขาวขุ่น ขนาดเมล็ดเล็ก เรียวยาว เมื่อนึ่งสุกแล้วมีสีขาว ข้าวเกาะตัวเหนียวแต่ไม่เละ ผิวเลื่อมมัน เนื้อสัมผัสนุ่มและมีกลิ่นหอม นิยมนำไปทำเป็นข้าวเหนียวมูน หรือทำขนมไทยเป็นข้าวเหนียวหน้าต่าง ๆ เป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในปัจจุบัน

 

 

ความนิยมที่หลากหลายของข้าวเหนียว เพราะรสและสัมผัสที่แตกต่าง แถมอยู่ท้องนานกว่าข้าวเจ้า

 

 

 

5.ข้าวเหนียวสันป่าตอง

เป็นข้าวพันธุ์พื้นเมืองที่นิยมปลูกแถบภาคเหนือและภาคอีสาน เมล็ดข้าวเปลือกสีน้ำตาล ยอดเมล็ดสีฟาง มีขนที่เปลือกเมล็ด ให้ผลผลิตดี ข้าวที่ขัดสีออกมาเมล็ดสวยเต็มเมล็ด  มีความอ่อนนุ่ม ข้าวกล้องสามารถหุงกินได้แบบข้าวเจ้า มีความนุ่มเหนียว เคี้ยวหนึบ รสชาติอร่อยเป็นเอกลักษณ์ ถึงแม้ทิ้งให้เย็นก็ยังนุ่มอยู่ จึงเป็นอีกหนึ่งพันธุ์ที่นิยมรับประทานกัน

 

6. ข้าวก่ำพันธุ์พื้นเมือง

ปลูกในเขตภาคเหนือตอนบน คือ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำปาง ลำพูน แพร่ น่าน พะเยา และแม่ฮ่องสอน ลำต้นมีลักษณะเป็นสีม่วง สีม่วงปนเขียว หรือสีเขียว เมล็ดข้าวเปลือกสีฟางหรือฟางอมม่วง เมื่อสีออกมาจะได้เมล็ดข้าวสีม่วงหรือสีดำ มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีสารแกมมาโอรีซานอลในส่วนของผิวข้าวที่ยังไม่ขัดสี สารแอนโทไซยานินมีฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ และมีวิตามินอีช่วยส่งเสริมการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย

 

7. ข้าวเล้าแตก

เป็นข้าวเหนียวประจำภาคอีสาน มีถิ่นกำเนิดอยู่ที่จังหวัดนครพนมให้ผลผลิตที่สูงมาก ข้าวเปลือกสีน้ำตาลอ่อนมีขนสั้น เมล็ดค่อนข้างป้อม ข้าวกล้องสีขาวอมน้ำตาลอ่อน ข้าวสารสีขาวขุ่น เมื่อนำไปหุงจะมีกลิ่นหอม รสหวานเล็กน้อย มีความเหนียว อ่อนนุ่มมาก แม้ทิ้งไว้จนเย็นแล้วก็ยังคงความนุ่มอยู่

 

8. ข้าวเหนียวก่ำกัญญา

เป็นข้าวนาปี ปลูกได้ในนาลุ่มและนาดอน เป็นข้าวไวต่อช่วงแสง มีลำต้น ใบและเปลือกสีดำ เมล็ดสั้นมีสีดำ รสออกมันขม มีสรรพคุณทางยาเพราะมีธาตุเหล็กสูง ช่วยบำรุงเลือด ป้องกันโรคโลหิตจาง มีสารต้านอนุมูลอิสระ ปัจจุบันหารับประทานได้ยากแล้ว

 

9. ข้าวเหนียวดำหมอ 

ข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมืองทางภาคใต้ นิยมปลูกบริเวณจังหวัดกระบี่ นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ปัตตานี ข้าวเปลือกสีฟางกระน้ำตาล เมล็ดค่อนข้างป้อม มีคุณค่าทางโภชนาการสูง มีแคลเซียม ธาตุเหล็ก ธาตุ สังกะสี มีสารต้านอนุมูลอิสระสูง มีวิตามินบี 1 วิตามินบี 3 และวิตามินบี 6 ช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน กระตุ้นการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย เมื่อนึ่งสุกมีลักษณะอ่อนนุ่ม นิยมใช้ในงานบุญและพิธีกรรมต่าง ๆ มีราคาจำหน่ายสูงกว่าข้าวขาวทั่วไป

 

10. ข้าวดอเชียงราย

เป็นข้าวเหนียวพันธุ์พื้นเมือง เป็นพันธุ์ที่ไม่อาศัยแสง ไม่อาศัยฤดูกาล ใช้วิธีนับอายุเก็บเกี่ยว ให้ผลผลิตต่อไร่สูง คุณภาพการหุงต้มดี เหนียวนุ่ม มีกลิ่นหอม รับประทานอร่อย ปัจจุบันมีการรณรงค์ให้ปลูกเพื่อการอนุรักษ์ เป็นข้าวพื้นเมืองที่เกือบจะสูญหายไปจากท้องถิ่น

 

 



Share   |   Edit   |   Add   |   List

เกี่ยวข้องกัน

ท่องเที่ยว รีวิวที่พัก